Carbon Footprint รอยเท้าที่นักลงทุนควรรู้จัก

Carbon Footprint รอยเท้าที่นักลงทุนควรรู้จัก

Carbon Footprint รอยเท้าที่นักลงทุนควรรู้จัก

Carbon Footprint รอยเท้าที่นักลงทุนควรรู้จัก

visibility 1,595

โดย นารินทิพย์ ท่องสายชล ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย

Highlights

·         ก๊าซเรือนกระจกเป็นก๊าซที่ห่อหุ้มโลกเพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้อยู่ในระดับคงที่ แต่ในปัจจุบันปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ จนเกิด “ภาวะโลกร้อน”

·         ภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อวางแผนลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” (Carbon Footprint)

·         ปัจจุบันทั่วโลกสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกไม่เกินประมาณ 500 จิกะตัน เพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในปี 2040 มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายรุนแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ชีวิตของทุกคนในสังคม รวมถึงผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุน

·         นักลงทุนในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องเข้าใจและติดตามประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและคาร์บอนฟุตพริ้นท์

ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โลกเราเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิสูงหรือต่ำผิดปกติ ฝนตกหนัก ฝนแล้ง ลมพายุรุนแรง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีสาเหตุหนึ่งมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) มากเกินสมดุลของธรรมชาติ ซึ่งก๊าซเรือนกระจกคือกลุ่มก๊าซที่เป็นองค์ประกอบของบรรยากาศโลกที่ห่อหุ้มโลกไว้เสมือนเรือนกระจก โดยมีคุณสมบัติดูดซับและกักเก็บรังสีความร้อนเพื่อช่วยให้โลกมีอุณหภูมิที่เหมาะสมและเอื้อต่อการอยู่อาศัย อย่างไรก็ตามเมื่อก๊าซเหล่านี้มีปริมาณมากเกินไปและรวมตัวกันอย่างหนาแน่นบนชั้นบรรยากาศโลก ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) เสมือนโลกมีเรือนกระจกที่กั้นรังสีความร้อนเอาไว้ ทำให้รังสีของดวงอาทิตย์ที่ควรจะสะท้อนกลับออกไปถูกกักเก็บไว้ จนอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกค่อย ๆ สูงขึ้น หรือที่เราเรียกกันว่า ภาวะโลกร้อน (Global Warming)

 

ก๊าซเรือนกระจกประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด ซึ่งสามารถเกิดจากธรรมชาติและจากกิจกรรมของมนุษย์ ก๊าซเรือนกระจกมีทั้งหมด 7 ชนิดที่สำคัญ (อ้างอิงจากพิธีสารเกียวโต: Kyoto Protocol) ได้แก่

1.       ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เกิดจากธรรมชาติและจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ภูเขาไฟ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น

2.       ก๊าซมีเทน (CH) เกิดจากธรรมชาติและจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเพาะปลูกข้าว การปศุสัตว์ การย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิต การเผาไหม้มวลชีวภาพ เป็นต้น (มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 25 เท่า)

3.       ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (NO) เกิดจากธรรมชาติและจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิตโดยแบคทีเรียในดินและมหาสมุทร การเกษตรกรรมที่ใช้ปุ๋ยที่มีองค์ประกอบของไนโตรเจน และอุตสาหกรรมที่ใช้กรดไนตริดในกระบวนการผลิต เป็นต้น (มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 298 เท่า)

4.       ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ในสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ และเป็นสารขยายตัวของโฟม ตัวทำละลายและสารสำหรับการดับเพลิง (มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 124 – 14,800 เท่า ขึ้นอยู่กับประเภท)

5.       ก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) เป็นก๊าซสังเคราะห์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท (มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 7,390 – 12,200 เท่า)

6.       ก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) ในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หรือวงจรขนาดเล็ก (มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 17,200 เท่า)

7.       ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) ในอุตสาหกรรมหนักหลายประเภท เช่น ยางรถยนต์ ฉนวนไฟฟ้า การผลิตสารกึ่งตัวนำไฟฟ้า อุตสาหกรรมแมกนีเซียม เป็นต้น (มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนมากที่สุด ซึ่งมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 22,800 เท่า)

 

ดังนั้น เพื่อวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดที่มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อน (Global Warming Potential: GWP) ที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมี “ค่ากลาง” การวัดเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) จึงได้กำหนดค่ากลางโดยคำนวณค่าศักยภาพในการกักเก็บความร้อนของก๊าซแต่ละชนิดให้เทียบกับศักยภาพในการกักเก็บความร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนเท่ากับ 1 ซึ่งจะมีหน่วยเป็น คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Carbon dioxide equivalent : CO2e) ตัวอย่างเช่น หากเราปล่อยก๊าซมีเทน 1 กิโลกรัม จะเทียบเท่ากับ 25 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) เป็นต้น

 Inv_Carbon Footprint รอยเท้าที่นักลงทุนควรรู้จัก_01

นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม (ปี 1850) การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมและการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้มีการขยายตัวอย่างมาก ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ รายงานประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Assessment Report: AR6) โดยคณะกรรมการ IPCC ระบุว่าอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกช่วงปี 2011 – 2020 เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปี 1850 – 1900 ประมาณ 1.09 [0.95 to 1.20] องศาเซลเซียส และหากปริมาณก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ในปี 2040

 

ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อวางแผนลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเกิดแนวคิดที่ใช้ในการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เรียกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) หรือรอยเท้าคาร์บอน ซึ่งคาร์บอนฟุตพริ้นท์สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่

1.       คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของกิจวัตรประจำวัน (Daily Activities) คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรา เช่น การเดินทางโดยรถยนต์หนึ่งคันปล่อยก๊าซเรือนกระจก 150 – 200 กรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อกิโลเมตรที่รถวิ่ง หรือแม้แต่การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม 3 มื้อปล่อยก๊าซเรือนกระจก 800 กรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นต้น

 

2.       คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Products) คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การผลิต การขนส่งและการกระจายสินค้า การใช้งาน การบริโภคและการจัดการซากของผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดอาจมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไม่เท่ากัน ดังนั้น ในการเลือกสินค้า ผู้บริโภคควรตัดสินใจเลือกสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า สำหรับภาคการผลิต ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เพื่อให้สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยบริหารความเสี่ยงจากการถูกเก็บภาษีคาร์บอนของสินค้าในกรณีที่ต้องส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศ

 

3.       คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Organization) คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น การใช้ไฟฟ้า การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การจัดการของเสีย การขนส่ง เป็นต้น คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรแบ่งออกเป็น 3 Scope ดังนี้

Scope 1: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกระบวนการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรโดยตรง เช่น การเผาไหม้ของเครื่องจักร การใช้พาหนะขององค์กร (ที่องค์กรเป็นเจ้าของเอง) การรั่วไหลของสารทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น

Scope 2: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมจากการใช้พลังงาน เช่น การซื้อพลังงานไฟฟ้า ความร้อน และไอน้ำที่ถูกนำเข้ามาจากภายนอกเพื่อใช้ในองค์กร

Scope 3: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมอื่น ๆ เช่น การเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะที่ไม่ใช่ขององค์กร การใช้วัสดุอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ เป็นต้น

การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรจะทำให้องค์กรทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารความเสี่ยง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าโลก รวมทั้งสร้างโอกาสด้านการลงทุนร่วมกับกลุ่มธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย

 

4.       คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของประเทศ (Countries) คือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ ซึ่งจะมีการคำนวณว่า แต่ละประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากหรือน้อยเพียงใด ปัจจุบันประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และอินเดีย (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มีนาคม 2566)

 

จากรายงาน Climate Change 2022 : Mitigation of Climate Change โดยคณะกรรมการ IPCC ระบุว่า ตั้งแต่ปี 1850 ถึงปี 2019 ทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมประมาณ 2,400 จิกะตัน ซึ่งนับเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยปีละ 35 – 36 จิกะตัน ในปี 2021 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 37.12 จิกะตัน เพิ่มขึ้น 5.3% จากปี 2020 หากต้องการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทั้งโลกสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกไม่เกินประมาณ 500 จิกะตัน

Inv_Carbon Footprint รอยเท้าที่นักลงทุนควรรู้จัก_02 

     ที่มา : www.carethebear.com

จะเห็นได้ว่ายังคงมีช่องว่างในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Budget) ได้อีกไม่มาก หากทั่วโลกยังไม่รีบปรับตัวหรือร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ภูมิอากาศของโลกในอีก 10 ปีข้างหน้าอาจแปรปรวนมาก แม้ประเทศไทยจะมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์เฉลี่ยประมาณ 0.3 จิกะตันต่อปี ซึ่งถือเป็นปริมาณที่ไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่จากรายงาน Global Climate Risk Index 2021 โดย German Watch ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับความเสมอภาคและการดำรงชีวิตของมนุษยชาติ รวมถึงติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเปิดเผยว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 ของประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว” เนื่องจากประเทศไทยมีการสะสมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอย่างต่อเนื่องและเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรุนแรง ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจของประเทศในหลาย ๆ ด้าน เช่น เกษตรกรรม การท่องเที่ยว และการค้า

 

จึงอาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุน นักลงทุนในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องเข้าใจและติดตามประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบจากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่อทิศทางในการดำเนินธุรกิจและแนวโน้มในการลงทุน

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

1.       Climate Change 2021 : The Physical Science Basis (IPCC)

2.       Climate Change 2022 : Mitigation of Climate Change (IPCC)

3.       What is CO2e and how is it calculated?

4.       Center for climate and energy solutions

5.       Annual carbon dioxide (CO) emissions worldwide from 1940 to 2021

6.       Carbon dioxide emissions worldwide in 2010 and 2021, by select country

7.       Scaling up Climate Ambition on Land Use and Agriculture through Nationally Determined Contributions and National Adaptation Plans (SCALA)

8.       องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)

9.       จะเกิดอะไรหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส

ที่มา https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/347-tsi-carbon-footprint-that-investors-should-know

ขอเชิญคณาจารย์ บุคลากร และนิสิต มศว   เข้าร่วมการประกวดแข่งขันตำส้มตำ

ขอเชิญคณาจารย์ บุคลากร และนิสิต มศว เข้าร่วมการประกวดแข่งขันตำส้มตำ

ขอแสดงความยินดีกับ ผศ.ดร.ประภาภรณ์ โรจน์ศิริรัตน์

ขอแสดงความยินดีกับ ผศ.ดร.ประภาภรณ์ โรจน์ศิริรัตน์

ในโอกาสได้รับรองจาก UK Professional Standards Framework for teaching and learning support in higher education
คณะสังคมศาสตร์ ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ

คณะสังคมศาสตร์ ถวายพระพรพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ