ที่มาภาพ: https://thaiembdc.org/2021/11/02/cop26-nov-1-2021/
ในการประชุม COP26 หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ มีผู้แทนจากกว่า 200 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุมเพื่อประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตัวเองต่อประชาคมโลก และหาข้อตกลงร่วมกัน ในการวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อก่อให้เกิดการลงมือทำจริง การที่ทุกประเทศมีความร่วมมือกันเช่นนี้ เนื่องจากต้องการที่จะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) นั่นเอง
ย้อนกลับไปที่การประชุม COP21 ในปี ค.ศ. 2015 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้เกิดข้อตกลงที่เรียกว่าความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และพยายามตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม การที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเพียง 0.5 องศาเซลเซียส ก็ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ตามมา การประชุม COP26 จึงทำให้นานาประเทศต่างประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดยั้งภัยอันตรายของมวลมนุษยชาติ และประเทศไทยได้แสดงเจตนารมย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้ประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 แล้วความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์คืออะไร มีความแตกต่างกันอย่างไร และทำไมถึงต้องใช้เวลาแตกต่างกันถึง 15 ปี กว่าจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้
Image by ejaugsburg from Pixabay
ความจริงแล้ว ทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ นั้นมีเป้าหมายเดียวกันคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับได้เท่ากับศูนย์ แต่มีกลไกในการลดก๊าซเรือนกระจกที่แตกต่างกัน ดังนี้
ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) คือ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดกลับคืนมา โดยผ่าน 3 กลไก ได้แก่ (1) “ลด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) (2) “ดูดกลับ” ก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ เช่น การปลูกป่าเพื่อเพิ่มแหล่งสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ (Carbon Sink) การใช้เทคโนโลยีในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำกลับมากักเก็บใต้พื้นดิน หรือใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ และ (3) “ชดเชย” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Offset) ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น หากเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีความสามารถในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 80 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เราสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลืออีก 20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต
ความแตกต่างระหว่าง Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions
ที่มาภาพ: https://www.pier.or.th/blog/2022/0301/
ส่วน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) จะเกิดขึ้นได้เมื่อก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์มีภาวะสมดุลกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก กล่าวคือ หากเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ก็จะต้องมีกิจกรรมที่ลดหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าเช่นกัน ไม่สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตได้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เป้าหมายของความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ห่างกันถึง 15 ปี เนื่องจาก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ตัดกลไกการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตออกไปนั้นเอง
สำหรับประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 21 ของโลก ในปี ค.ศ. 2019 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และคาดว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเท่ากับ 368 ล้านต้นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี ค.ศ. 2025 เพื่อเข้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ตามที่ได้ประกาศไว้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้เร่งแปลงเป้าหมายดังกล่าวให้เป็นแผนงานที่เป็นรูปธรรม เช่น การปรับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (Nationally Determined Contribution; NDC) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20-25 เป็นร้อยละ 30-40 จากระดับปกติภายในปี ค.ศ. 2030
จัดทำบทความโดย นางสาวอัฏฐารจ ชาวชน
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม
เอกสารอ้างอิง
กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “แผนที่นําทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๒๕๗๓”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 จาก https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/07/NDC-Roadmap-for-Printing.pdf
บีบีซีไทย. “โลกร้อน: การประชุม COP26 ในกลาสโกว์ตกลงอะไรกันได้บ้าง”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 จาก https://www.bbc.com/thai/international-59264622
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์. “Carbon neutrality” กับ “net zero emissions” ต่างกันอย่างไร? และมีความสำคัญอย่างไร?”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565จาก https://www.pier.or.th/blog/2022/0301/
สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ยุทธศาสตร์ของไทยและบทบาทของรัฐสภา”. [อ้างอิงจากสถานะเฟซบุ๊ก]. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 จาก https://fb.watch/ejMcO4sNjr/
องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). “กิจกรรมชดเชยคาร์บอนคืออะไร”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565จาก http://carbonmarket.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=Y29uY2VwdF9vZmZzZXR0aW5n
The Standard. “Net Zero ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ทางรอดของมนุษยชาติ”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 จาก https://thestandard.co/podcast/thesecretsauce-executive-espresso286/