คาร์บอนเครดิต กลไกลดก๊าซเรือนกระจก

คาร์บอนเครดิต กลไกลดก๊าซเรือนกระจก

คาร์บอนเครดิต กลไกลดก๊าซเรือนกระจก

คาร์บอนเครดิต กลไกลดก๊าซเรือนกระจก

visibility 5,796

ที่มาภาพ : https://ukcop26.org

เมื่อวันที่ 24 มิถุนายน 2565 ประเทศไทยและสมาพันธรัฐสวิสได้ลงนามร่วมกันในข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีสเพื่อจุดประสงค์ในการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต ณ กรุงเบิร์น สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งคาดว่าประเทศไทยจะสามารถถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตจากโครงการส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาดและยานยนต์ไฟฟ้าเป็นประเทศแรกของโลก แล้วความตกลงปารีส และการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตคืออะไร

ความตกลงปารีส (Paris Agreement)
ความตกลงปารีสเป็นความตกลงที่จัดทำขึ้นโดยภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มีผลบังคับใช้ปี ค.ศ. 2016 เพื่อร่วมกันควบคุมการเพิ่มของอุณหภูมิโลกไม่ให้เกิน 2 องศาเซลเซียส เพิ่มความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และเพิ่มการหมุนเวียนของเงินทุนสู่การพัฒนาที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ โดยข้อตกลงการดำเนินงานระหว่างไทย-สวิส ให้ความสำคัญไปที่การถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจก ภายใต้ข้อ 6.2 ของความตกลงปารีส ซึ่งผลการลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกมีอีกชื่อว่าคาร์บอนเครดิตนั่นเอง

พิธีลงนามในข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีสระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิส
ที่มาภาพ : https://www.onep.go.th

คาร์บอนเครดิตคืออะไร?
คาร์บอนเครดิต คือ ผลการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก (เช่น การใช้พลังงานชีวภาพ การใช้ยานยนต์ไฟฟ้า) หรือผลการกักเก็บปริมาณก๊าซเรือนกระจก (เช่น การปลูกต้นไม้) ที่ได้รับรองและบันทึกในระบบทะเบียนของหน่วยงานเจ้าของมาตรฐานการลดก๊าซเรือนกระจก ซึ่งจะตกลงกันระหว่างประเทศที่จะทำการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต

ทำไมต้องถ่ายโอนคาร์บอนเครดิต?
จุดประสงค์ในการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตมีทั้งจุดประสงค์ภายในประเทศ และระหว่างประเทศ การถ่ายโอนภายในประเทศเกิดขึ้นเพื่อขอรับสิทธิประโยชน์ตามมาตรการของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องกับการจัดการก๊าซเรือนกระจก ส่วนการถ่ายโอนระหว่างประเทศนั้นเป็นการใช้คาร์บอนเครดิตที่เกิดจากโครงการที่ตั้งอยู่ในประเทศหนึ่งเพื่อบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของอีกประเทศหนึ่งที่ทำข้อตกลงร่วมกัน

ถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตอย่างไร?
ในที่ประชุม COP26 ที่ผ่านมามีการรับรองรายละเอียดเกี่ยวกับกรอบการดำเนินงานภายใต้ข้อ 6.2 ของความตกลงปารีสในการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตโดยสมัครใจระหว่างประเทศ โดยมีการกำหนดแนวปฏิบัติ (Guidance) สำหรับการดำเนินความร่วมมือที่มีการถ่ายโอนผลการลดก๊าซเรือนกระจกระหว่างประเทศ (Internationally transferred mitigation outcomes หรือ ITMOs) จัดทำความตกลงระหว่างประเทศเพื่อกำหนดกรอบการดำเนินงาน มีขั้นตอนการให้อนุญาต (Authorization) การถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตโดยต้องมีระบบติดตามการถ่ายโอนดังกล่าว และหลีกเลี่ยงการนับผลการลดก๊าซเรือนกระจกซ้ำ (double counting)

ผลการถ่ายโอนคาร์บอนเครดิตระหว่างประเทศอาจมีขั้นตอน และลักษณะกิจกรรมในการลดหรือกักเก็บก๊าซเรือนกระจกแตกต่างกันตามความตกลงระหว่างประเทศนั้น ๆ เช่น การแบ่งคาร์บอนเครดิตในอัตราส่วนตามตกลง การใช้กลไกตลาดระหว่างประเทศในการทำสัญญาซื้อขายคาร์บอนเครดิต เป็นต้น

ที่มาภาพ : http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/page/PAG230

ปัจจุบันประเทศไทยมีแนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตเพื่อสนับสนุนการบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ (Nationally Determined Contribution หรือ NDC) ที่จะลดก๊าซเรือนกระจกครอบคลุมสาขาพลังงาน คมนาคมขนส่ง อุตสาหกรรม และการจัดการของเสียให้ได้ 20-25% ภายในปี ค.ศ. 2030

จัดทำบทความโดย นางสาววริษฐา จงวิสุทธิ์ เจ้าหน้าที่วิเคราะห์นโยบายและแผน
กลุ่มงานติดตามประเมินสถานการณ์ กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม

อ้างอิง

กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “แผนปฏิบัติการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 – 2573 รายสาขา”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 จาก https://climate.onep.go.th

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. (2560). Paris Agreement ความตกลงปารีส (คำแปลอย่างไม่เป็นทางการ). กรุงเทพมหานคร.

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “แนวทางและกลไกการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิต”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 จาก https://www.onep.go.th/carbon-credit

สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “พิธีลงนามในข้อตกลงการดำเนินงานภายใต้ความตกลงปารีสระหว่างราชอาณาจักรไทยกับสมาพันธรัฐสวิส (Implementing Agreement to the Paris Agreement between the Kingdom of Thailand and the Swiss Confederation)”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 จาก https://www.onep.go.th

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). “ความตกลงปารีส ข้อที่ 6 (Article 6)”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 27 มิถุนายน 2565 จาก http://www.tgo.or.th/2020/index.php/th/page/PAG230

ประกาศรายชื่อและสถานที่สอบ SWU-SET รหัส 64 คณะสังคมศาสตร์

ประกาศรายชื่อและสถานที่สอบ SWU-SET รหัส 64 คณะสังคมศาสตร์

วันอาทิตย์ที่ 19 มีนาคม 2566

การทำประกันสุขภาพ และอุบัติเหตุกลุ่ม ปีงบประมาณ 2568

มศว ประกาศนโยบาย No Gift Policy

มศว ประกาศนโยบาย No Gift Policy

มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ กำหนดนโยบายไม่รับของขวัญและของกำนัลทุกชนิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (No Gift Policy) เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติร่วมกันของผู้บริหารปละบุคลากรทุกคน