ลดโลกร้อนด้วย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions

ลดโลกร้อนด้วย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions

ลดโลกร้อนด้วย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions

ลดโลกร้อนด้วย Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions

visibility 8,774

ที่มาภาพ: https://thaiembdc.org/2021/11/02/cop26-nov-1-2021/

 

ในการประชุม COP26 หรือ การประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 ณ เมืองกลาสโกว์ ประเทศสกอตแลนด์ มีผู้แทนจากกว่า 200 ประเทศทั่วโลกเข้าร่วมประชุมเพื่อประกาศเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศตัวเองต่อประชาคมโลก และหาข้อตกลงร่วมกัน ในการวางแผนลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อก่อให้เกิดการลงมือทำจริง การที่ทุกประเทศมีความร่วมมือกันเช่นนี้ เนื่องจากต้องการที่จะควบคุมอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ตามข้อตกลงภายใต้ความตกลงปารีส (Paris Agreement) นั่นเอง

 

 

ย้อนกลับไปที่การประชุม COP21 ในปี ค.ศ. 2015 ณ กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ได้เกิดข้อตกลงที่เรียกว่าความตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่มีเป้าหมายร่วมกันในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียส และพยายามตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ที่ไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนปฏิวัติอุตสาหกรรม การที่อุณหภูมิของโลกเพิ่มขึ้นเพียง 0.5 องศาเซลเซียส ก็ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อโลก ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพ และภัยพิบัติต่าง ๆ ที่ตามมา การประชุม COP26 จึงทำให้นานาประเทศต่างประกาศเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการหยุดยั้งภัยอันตรายของมวลมนุษยชาติ และประเทศไทยได้แสดงเจตนารมย์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยได้ประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 แล้วความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์คืออะไร มีความแตกต่างกันอย่างไร และทำไมถึงต้องใช้เวลาแตกต่างกันถึง 15 ปี กว่าจะบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้

Image by ejaugsburg from Pixabay

ความจริงแล้ว ทั้งความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ นั้นมีเป้าหมายเดียวกันคือ การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกนับได้เท่ากับศูนย์ แต่มีกลไกในการลดก๊าซเรือนกระจกที่แตกต่างกัน ดังนี้

ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) คือ ปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศเท่ากับปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ถูกดูดกลับคืนมา โดยผ่าน 3 กลไก ได้แก่ (1) “ลด” การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การใช้พลังงานหมุนเวียนแทนการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel) (2) “ดูดกลับ” ก๊าซเรือนกระจกจากชั้นบรรยากาศ เช่น การปลูกป่าเพื่อเพิ่มแหล่งสะสมก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ตามธรรมชาติ (Carbon Sink) การใช้เทคโนโลยีในการดักจับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และนำกลับมากักเก็บใต้พื้นดิน หรือใช้ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ และ (3) “ชดเชย” การปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต (Carbon Credit Offset) ยกตัวอย่างให้เห็นภาพเช่น หากเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และมีความสามารถในการดูดกลับก๊าซเรือนกระจกได้เพียง 80 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เราสามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เหลืออีก 20 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิต

ความแตกต่างระหว่าง Carbon Neutrality และ Net Zero Emissions
ที่มาภาพ: https://www.pier.or.th/blog/2022/0301/

ส่วน การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) จะเกิดขึ้นได้เมื่อก๊าซเรือนกระจกที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์มีภาวะสมดุลกับการลดปริมาณก๊าซเรือนกระจก กล่าวคือ หากเราปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ก็จะต้องมีกิจกรรมที่ลดหรือดูดกลับก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 100 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าเช่นกัน ไม่สามารถชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตได้ จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้เป้าหมายของความเป็นกลางทางคาร์บอน และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ห่างกันถึง 15 ปี เนื่องจาก การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ได้ตัดกลไกการชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้วยการซื้อคาร์บอนเครดิตออกไปนั้นเอง

สำหรับประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 21 ของโลก ในปี ค.ศ. 2019 ประเทศไทยปล่อยก๊าซเรือนกระจกเท่ากับ 354 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า และคาดว่าจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดเท่ากับ 368 ล้านต้นคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า ภายในปี ค.ศ. 2025 เพื่อเข้าสู่เป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เป็นศูนย์ ภายในปี ค.ศ. 2065 ตามที่ได้ประกาศไว้ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) ได้เร่งแปลงเป้าหมายดังกล่าวให้เป็นแผนงานที่เป็นรูปธรรม เช่น การปรับยุทธศาสตร์ระยะยาวในการพัฒนาแบบปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ และกำหนดเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทย (Nationally Determined Contribution; NDC) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 20-25 เป็นร้อยละ 30-40 จากระดับปกติภายในปี ค.ศ. 2030

จัดทำบทความโดย นางสาวอัฏฐารจ ชาวชน
นักวิชาการสิ่งแวดล้อมปฏิบัติการ กองติดตามประเมินผลสิ่งแวดล้อม

เอกสารอ้างอิง

กองประสานการจัดการการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม. “แผนที่นําทางการลดก๊าซเรือนกระจกของประเทศ ปี พ.ศ. ๒๕๖๔ – ๒๕๗๓”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 จาก https://climate.onep.go.th/wp-content/uploads/2019/07/NDC-Roadmap-for-Printing.pdf

บีบีซีไทย. “โลกร้อน: การประชุม COP26 ในกลาสโกว์ตกลงอะไรกันได้บ้าง”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 จาก https://www.bbc.com/thai/international-59264622

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์. “Carbon neutrality” กับ “net zero emissions” ต่างกันอย่างไร? และมีความสำคัญอย่างไร?”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565จาก https://www.pier.or.th/blog/2022/0301/

สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ดร. พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช เลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวในการสัมมนาหัวข้อ “การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ : ยุทธศาสตร์ของไทยและบทบาทของรัฐสภา”. [อ้างอิงจากสถานะเฟซบุ๊ก]. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 จาก https://fb.watch/ejMcO4sNjr/

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน). “กิจกรรมชดเชยคาร์บอนคืออะไร”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565จาก http://carbonmarket.tgo.or.th/index.php?lang=TH&mod=Y29uY2VwdF9vZmZzZXR0aW5n

The Standard. “Net Zero ก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ ทางรอดของมนุษยชาติ”. [ออนไลน์]. สืบค้นเมื่อวันที่ 16 กรกฎาคม 2565 จาก https://thestandard.co/podcast/thesecretsauce-executive-espresso286/

ขอให้นิสิตคณะสังคมศาสตร์ทุกชั้นปี  ทำแบบวัดสุขภาพใจนิสิต มศว (SWU Smile)

ขอให้นิสิตคณะสังคมศาสตร์ทุกชั้นปี ทำแบบวัดสุขภาพใจนิสิต มศว (SWU Smile)

ขอเชิญเข้าร่วมอบรม Reskill Upskill พัฒนาและยกระดับทักษะการทำงาน “การขายสินค้าออนไลน์”

ขอเชิญเข้าร่วมอบรม Reskill Upskill พัฒนาและยกระดับทักษะการทำงาน “การขายสินค้าออนไลน์”

ขอเชิญเข้าร่วมอบรม Reskill Upskill พัฒนาและยกระดับทักษะการทำงาน “การขายสินค้าออนไลน์” ในวันเสาร์ที่ 16 กรกฎาคม 2565 ผ่านระบบ ZOOM โดยระบบเปิดเวลา 09.30 น. และเริ่มการอบรมเวลา 10.00 น. - 15.00 น.

กิจกรรมรณรงค์คุณธรรมและความโปร่งใส