โดย นารินทิพย์ ท่องสายชล ฝ่ายพัฒนาความรู้ผู้ลงทุน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
Highlights
· ก๊าซเรือนกระจกเป็นก๊าซที่ห่อหุ้มโลกเพื่อรักษาอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้อยู่ในระดับคงที่ แต่ในปัจจุบันปริมาณก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจากกิจกรรมของมนุษย์ จนเกิด “ภาวะโลกร้อน”
· ภาครัฐ ภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามที่จะวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อวางแผนลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเป็นที่มาของ “คาร์บอนฟุตพริ้นท์” (Carbon Footprint)
· ปัจจุบันทั่วโลกสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกไม่เกินประมาณ 500 จิกะตัน เพื่อควบคุมไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกสูงขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียสในปี 2040 มิฉะนั้นจะเกิดความเสียหายรุนแรงต่อทรัพยากรธรรมชาติและการใช้ชีวิตของทุกคนในสังคม รวมถึงผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุน
· นักลงทุนในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องเข้าใจและติดตามประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและคาร์บอนฟุตพริ้นท์
ในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา โลกเราเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ไม่ว่าจะเป็นอุณหภูมิสูงหรือต่ำผิดปกติ ฝนตกหนัก ฝนแล้ง ลมพายุรุนแรง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีสาเหตุหนึ่งมาจากกิจกรรมของมนุษย์ที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas) มากเกินสมดุลของธรรมชาติ ซึ่งก๊าซเรือนกระจกคือกลุ่มก๊าซที่เป็นองค์ประกอบของบรรยากาศโลกที่ห่อหุ้มโลกไว้เสมือนเรือนกระจก โดยมีคุณสมบัติดูดซับและกักเก็บรังสีความร้อนเพื่อช่วยให้โลกมีอุณหภูมิที่เหมาะสมและเอื้อต่อการอยู่อาศัย อย่างไรก็ตามเมื่อก๊าซเหล่านี้มีปริมาณมากเกินไปและรวมตัวกันอย่างหนาแน่นบนชั้นบรรยากาศโลก ทำให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก (Greenhouse Effect) เสมือนโลกมีเรือนกระจกที่กั้นรังสีความร้อนเอาไว้ ทำให้รังสีของดวงอาทิตย์ที่ควรจะสะท้อนกลับออกไปถูกกักเก็บไว้ จนอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกค่อย ๆ สูงขึ้น หรือที่เราเรียกกันว่า ภาวะโลกร้อน (Global Warming)
ก๊าซเรือนกระจกประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด ซึ่งสามารถเกิดจากธรรมชาติและจากกิจกรรมของมนุษย์ ก๊าซเรือนกระจกมีทั้งหมด 7 ชนิดที่สำคัญ (อ้างอิงจากพิธีสารเกียวโต: Kyoto Protocol) ได้แก่
1. ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) เกิดจากธรรมชาติและจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น ภูเขาไฟ การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล และการตัดไม้ทำลายป่า เป็นต้น
2. ก๊าซมีเทน (CH₄) เกิดจากธรรมชาติและจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การเพาะปลูกข้าว การปศุสัตว์ การย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิต การเผาไหม้มวลชีวภาพ เป็นต้น (มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 25 เท่า)
3. ก๊าซไนตรัสออกไซด์ (N₂O) เกิดจากธรรมชาติและจากกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การย่อยสลายซากสิ่งมีชีวิตโดยแบคทีเรียในดินและมหาสมุทร การเกษตรกรรมที่ใช้ปุ๋ยที่มีองค์ประกอบของไนโตรเจน และอุตสาหกรรมที่ใช้กรดไนตริดในกระบวนการผลิต เป็นต้น (มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 298 เท่า)
4. ก๊าซไฮโดรฟลูออโรคาร์บอน (HFCs) ในสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ และเป็นสารขยายตัวของโฟม ตัวทำละลายและสารสำหรับการดับเพลิง (มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 124 – 14,800 เท่า ขึ้นอยู่กับประเภท)
5. ก๊าซเปอร์ฟลูออโรคาร์บอน (PFCs) เป็นก๊าซสังเคราะห์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท (มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 7,390 – 12,200 เท่า)
6. ก๊าซไนโตรเจนไตรฟลูออไรด์ (NF3) ในกระบวนการผลิตของภาคอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์หรือวงจรขนาดเล็ก (มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 17,200 เท่า)
7. ก๊าซซัลเฟอร์เฮกซะฟลูออไรด์ (SF6) ในอุตสาหกรรมหนักหลายประเภท เช่น ยางรถยนต์ ฉนวนไฟฟ้า การผลิตสารกึ่งตัวนำไฟฟ้า อุตสาหกรรมแมกนีเซียม เป็นต้น (มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนมากที่สุด ซึ่งมากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 22,800 เท่า)
ดังนั้น เพื่อวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกแต่ละชนิดที่มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อน (Global Warming Potential: GWP) ที่แตกต่างกัน จึงจำเป็นต้องมี “ค่ากลาง” การวัดเพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) จึงได้กำหนดค่ากลางโดยคำนวณค่าศักยภาพในการกักเก็บความร้อนของก๊าซแต่ละชนิดให้เทียบกับศักยภาพในการกักเก็บความร้อนของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ โดยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มีศักยภาพในการกักเก็บความร้อนเท่ากับ 1 ซึ่งจะมีหน่วยเป็น คาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (Carbon dioxide equivalent : CO2e) ตัวอย่างเช่น หากเราปล่อยก๊าซมีเทน 1 กิโลกรัม จะเทียบเท่ากับ 25 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า (kgCO2e) เป็นต้น
นับตั้งแต่การปฏิวัติอุตสาหกรรม (ปี 1850) การผลิตในเชิงอุตสาหกรรมและการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลได้มีการขยายตัวอย่างมาก ส่งผลให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ รายงานประเมินสถานการณ์ด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Assessment Report: AR6) โดยคณะกรรมการ IPCC ระบุว่าอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกช่วงปี 2011 – 2020 เพิ่มสูงขึ้นกว่าช่วงปี 1850 – 1900 ประมาณ 1.09 [0.95 to 1.20] องศาเซลเซียส และหากปริมาณก๊าซเรือนกระจกยังคงเพิ่มสูงขึ้น คาดว่าอุณหภูมิเฉลี่ยพื้นผิวโลกอาจเพิ่มสูงขึ้นถึง 1.5 องศาเซลเซียส ในปี 2040
ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องวัดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพื่อวางแผนลดปริมาณก๊าซเรือนกระจกอย่างมีประสิทธิภาพ จึงเกิดแนวคิดที่ใช้ในการวัดปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เรียกว่า คาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon Footprint) หรือรอยเท้าคาร์บอน ซึ่งคาร์บอนฟุตพริ้นท์สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่
1. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของกิจวัตรประจำวัน (Daily Activities) คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมในชีวิตประจำวันของเรา เช่น การเดินทางโดยรถยนต์หนึ่งคันปล่อยก๊าซเรือนกระจก 150 – 200 กรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อกิโลเมตรที่รถวิ่ง หรือแม้แต่การบริโภคอาหารและเครื่องดื่ม 3 มื้อปล่อยก๊าซเรือนกระจก 800 กรัมคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า เป็นต้น
2. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์ (Products) คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกระบวนการผลิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การได้มาซึ่งวัตถุดิบ การผลิต การขนส่งและการกระจายสินค้า การใช้งาน การบริโภคและการจัดการซากของผลิตภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดอาจมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์ไม่เท่ากัน ดังนั้น ในการเลือกสินค้า ผู้บริโภคควรตัดสินใจเลือกสินค้าที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่า สำหรับภาคการผลิต ผู้ประกอบการควรคำนึงถึงคาร์บอนฟุตพริ้นท์ของผลิตภัณฑ์เพื่อให้สินค้าเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยบริหารความเสี่ยงจากการถูกเก็บภาษีคาร์บอนของสินค้าในกรณีที่ต้องส่งออกสินค้าไปขายในต่างประเทศ
3. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กร (Organization) คือปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เช่น การใช้ไฟฟ้า การเผาไหม้ของเชื้อเพลิง การจัดการของเสีย การขนส่ง เป็นต้น คาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรแบ่งออกเป็น 3 Scope ดังนี้
Scope 1: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์จากกระบวนการหรือกิจกรรมต่าง ๆ ขององค์กรโดยตรง เช่น การเผาไหม้ของเครื่องจักร การใช้พาหนะขององค์กร (ที่องค์กรเป็นเจ้าของเอง) การรั่วไหลของสารทำความเย็นของเครื่องปรับอากาศ เป็นต้น
Scope 2: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมจากการใช้พลังงาน เช่น การซื้อพลังงานไฟฟ้า ความร้อน และไอน้ำที่ถูกนำเข้ามาจากภายนอกเพื่อใช้ในองค์กร
Scope 3: การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ทางอ้อมอื่น ๆ เช่น การเดินทางของพนักงานด้วยพาหนะที่ไม่ใช่ขององค์กร การใช้วัสดุอุปกรณ์สำนักงานต่าง ๆ เป็นต้น
การคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ขององค์กรจะทำให้องค์กรทราบปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกขององค์กร ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถบริหารจัดการเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะนำไปสู่การบริหารความเสี่ยง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในเวทีการค้าโลก รวมทั้งสร้างโอกาสด้านการลงทุนร่วมกับกลุ่มธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอีกด้วย
4. คาร์บอนฟุตพริ้นท์ของประเทศ (Countries) คือปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในระดับประเทศ ซึ่งจะมีการคำนวณว่า แต่ละประเทศปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกมามากหรือน้อยเพียงใด ปัจจุบันประเทศที่มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุด 3 ลำดับแรก ได้แก่ จีน สหรัฐอเมริกา และอินเดีย (ข้อมูล ณ วันที่ 10 มีนาคม 2566)
จากรายงาน Climate Change 2022 : Mitigation of Climate Change โดยคณะกรรมการ IPCC ระบุว่า ตั้งแต่ปี 1850 ถึงปี 2019 ทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสะสมประมาณ 2,400 จิกะตัน ซึ่งนับเป็นการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเฉลี่ยปีละ 35 – 36 จิกะตัน ในปี 2021 มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 37.12 จิกะตัน เพิ่มขึ้น 5.3% จากปี 2020 หากต้องการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้สูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียส ทั้งโลกสามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อีกไม่เกินประมาณ 500 จิกะตัน
ที่มา : www.carethebear.com
จะเห็นได้ว่ายังคงมีช่องว่างในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Budget) ได้อีกไม่มาก หากทั่วโลกยังไม่รีบปรับตัวหรือร่วมกันลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจัง ภูมิอากาศของโลกในอีก 10 ปีข้างหน้าอาจแปรปรวนมาก แม้ประเทศไทยจะมีคาร์บอนฟุตพริ้นท์เฉลี่ยประมาณ 0.3 จิกะตันต่อปี ซึ่งถือเป็นปริมาณที่ไม่มากเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ แต่จากรายงาน Global Climate Risk Index 2021 โดย German Watch ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เคลื่อนไหวเกี่ยวกับความเสมอภาคและการดำรงชีวิตของมนุษยชาติ รวมถึงติดตามสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกเปิดเผยว่า “ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 9 ของประเทศที่มีความเสี่ยงต่อการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระยะยาว” เนื่องจากประเทศไทยมีการสะสมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาอย่างต่อเนื่องและเกิดเหตุภัยพิบัติทางธรรมชาติอย่างรุนแรง ซึ่งสร้างความเสียหายแก่ภาคธุรกิจและระบบเศรษฐกิจของประเทศในหลาย ๆ ด้าน เช่น เกษตรกรรม การท่องเที่ยว และการค้า
จึงอาจกล่าวได้ว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นประเด็นสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจและการลงทุน นักลงทุนในปัจจุบันจึงจำเป็นต้องเข้าใจและติดตามประเด็นด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและผลกระทบจากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ต่อทิศทางในการดำเนินธุรกิจและแนวโน้มในการลงทุน
อ้างอิงข้อมูลจาก
1. Climate Change 2021 : The Physical Science Basis (IPCC)
2. Climate Change 2022 : Mitigation of Climate Change (IPCC)
3. What is CO2e and how is it calculated?
4. Center for climate and energy solutions
5. Annual carbon dioxide (CO₂) emissions worldwide from 1940 to 2021
6. Carbon dioxide emissions worldwide in 2010 and 2021, by select country
8. องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน)
9. จะเกิดอะไรหากอุณหภูมิโลกเพิ่มขึ้น 1.5 องศาเซลเซียส
ที่มา https://www.setinvestnow.com/th/knowledge/article/347-tsi-carbon-footprint-that-investors-should-know